เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "Moody's ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตไทยเป็น Negative ผลกระทบกับค่าเงิน และผลตอบแทนตราสารหนี้"


· 29 เมษายน 2568 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Ratings ปรับลดมุมมองแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับรัฐบาลไทยจาก “Stable” มาที่ “Negative” แม้ว่าจะยังคงอันดับความน่าเชื่อถือไว้ที่ระดับเดิม โดยอันดับเครดิตสำหรับ Issuer และ Local Currency Senior Unsecured Ratings ของรัฐบาลไทยยังคงอยู่ที่ระดับ Baa1 เช่นเดียวกับ Foreign Currency Commercial Paper Rating ที่ยังคงอยู่ที่ระดับ P-2

· Moody’s Ratings กล่าวถึงสาเหตุสำคัญของการปรับมุมมองต่อแนวโน้มอันดับเครดิตลงเป็น Negative รอบนี้ มาจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจไทยซึ่งมีผลทำให้สถานะทางการคลังอ่อนแอลง โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลก และมีผลกระทบตามมายังเศรษฐกิจไทยอันเป็นเศรษฐกิจเปิด และมีการฟื้นตัวที่เปราะบางตั้งแต่หลังช่วงโควิด-19

· ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตในรอบนี้ ต่างจากการปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น Negative ในรอบก่อน ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2551 ในช่วงของวิกฤต Subprime อยู่ 2 จุด คือ

เศรษฐกิจไทยในปี 2551-2552 ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินทั่วโลก ซึ่งหลังจากวิกฤต Subprime คลี่คลายลง (หรือประมาณ 22 เดือนหลังจากนั้น) Moody’s ก็ปรับแนวโน้มกลับมาที่ Stable ในเดือนตุลาคม 2553

ระดับหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยแม้ในช่วงนั้นรัฐบาลไทยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการการคลังซึ่งทำให้ยอดขาดดุลการคลังเพิ่ม

สูงขึ้น แต่ระดับหนี้สาธารณะของไทยก็ยังคงอยู่ภายใต้เพดานหนี้สาธารณะ โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะขยับขึ้นประมาณ 4.3% จาก 35.0% ของจีดีพี ณ กันยายน 2551 มาที่ 39.3% ของจีดีพี ณ ตุลาคม 2553

แต่ในรอบนี้ คงต้องมองย้อนกลับไปในเดือนเมษายน 2563 ที่แนวโน้มอันดับเครดิตของไทยเริ่มปรับลดลงจาก Positive มาที่ Stable ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นหลังช่วงโควิด-19 ก่อนที่จะตามมาด้วยรอบล่าสุด (28 เมษายน 2568) ที่มีการปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตลงต่อมาที่ Negative โดยเพิ่มเติมปัจจัยลบทางเศรษฐกิจจากการเปิดเกมปรับขึ้นภาษีนำเข้าของ ปธน.ทรัมป์ และความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาลไทย ทั้งนี้ ภาพจังหวะที่ไทยถูกจับตาเป็นพิเศษจนมีการทบทวนแนวโน้มของอันดับเครดิตลงต่อเนื่อง จาก Positive (ก.ค. 2562) เป็น Stable (เม.ย. 2563) จนมาเป็น Negative (เม.ย. 2568) ใช้ระยะเวลาเกือบ 6 ปี อันย้ำถึงปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ลากยาวขึ้นกว่าเดิม และมีเงื่อนไขซ้ำเติม คือ ตัวช่วยทางการคลังมีสัญญาณที่จำกัดมากขึ้นกว่ารอบก่อน จากสัดส่วนหนี้สาธารณะที่ขยับขึ้นแตะระดับ 64.2% ต่อจีดีพี ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2568

· ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่น ๆ อาจทบทวนแนวโน้มอันดับเครดิตของไทยตามมาด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่ในระหว่างนี้ไทยอาจยังมีเวลาราว 6 เดือน ถึง 1 ปี (ตามรอบของการปรับอันดับความน่าเชื่อถือในอดีต) เพื่อวางแนวทางรับมือผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ทั้งปัจจัยเฉพาะหน้าจากประเด็นการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และปัจจัยเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิมของเศรษฐกิจไทย ทั้งหนี้ครัวเรือนสูง ขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจไทย และสถานะทางการคลัง

· ตลาดการเงินไทยตอบรับข่าวการปรับมุมมองต่อแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือมาเป็น Negative ในรอบนี้ ค่อนข้างจำกัด เพราะปัจจัยอื่นมีผลมากกว่า อาทิ ทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ที่โดนกระทบจากเรื่องสงครามการค้า และสัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ ซึ่งสลับมาอยู่ในฝั่งไหลเข้าสุทธิรับมติการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลง 0.25% มาที่ 1.75% ในการประชุม กนง. 30 เมษายน 2568

ณ 16.43 น. เงินบาทอยู่ที่ 33.38-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ใกล้เคียงระดับปิดที่ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ของวันทำการก่อนหน้า) ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้น 2.23% มาที่ 1,197.26 จุด ขณะที่ ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี ทรงตัวที่ 1.88-1.89%

· อย่างไรก็ตาม หากมีสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นๆ ปรับทบทวนมุมมองที่มีต่อแนวโน้ม (หรือปรับอันดับเครดิต) ตามมาในอนาคตอันใกล้ ผลกระทบอาจทยอยชัดเจนขึ้น เพราะประเด็นนี้อาจนับเป็นหนึ่งในสัญญาณที่ย้ำกว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางลงมาก โดยทิศทางผลกระทบที่เป็นไปได้คือ

ปัจจัยนี้ตามลำพังอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงตามความเสี่ยงของเงินทุนไหลออก แต่ประสบการณ์จากการปรับมุมมองหรือทบทวนอันดับเครดิตรอบก่อนๆ สะท้อนว่า ยังคงมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อทิศทางเงินบาทมากกว่า โดยเฉพาะทิศทางเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยนโยบาย และสถานการณ์ของค่าเงินดอลลาร์ฯ (รูปที่ 1) ดังนั้น คาดว่า เงินบาทในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้าจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบค่อนข้างกว้างในช่วงประมาณ 33.00-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างที่ตลาดรอประเมินภาพที่ชัดเจนของสถานการณ์สงครามการค้า รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและดอกเบี้ยของไทย

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อาจไม่ได้รับอานิสงส์ของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเต็มที่ แม้ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมวันที่ 30 เมษายน 2568 และมีโอกาสลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกในระยะที่เหลือของปี ก็ตาม

Credit Spread สำหรับหุ้นกู้เอกชน มีโอกาสแพงขึ้น ดังที่ปรากฏขึ้นแล้วในกลุ่มอันดับ BBB (รูปที่ 2) ท่ามกลางภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยและนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย อยู่ในภาวะหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Averse) ซึ่งส่งผลกระทบตามมาต่อความสำเร็จในการระดมทุนด้วยหุ้นกู้ ให้มีโอกาสได้เม็ดเงินระดมทุนตามที่คาดหวังไว้นั้น ลดลงเช่นกัน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 เม.ย. 2568 เวลา : 20:25:38
01-05-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (30 เม.ย.68) บวก 26.14 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,197.26 จุด

2. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (30 เม.ย.68) บวก 10.40 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,181.52 จุด

3. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีกรอบแนวรับที่ระดับ 3,290 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 3,330 เหรียญ

4. อุตุฯเตือน ภาคเหนือ "พายุฤดูร้อน" ฝนฟ้าคะนอง 60% ภาคอีสาน-ภาคกลาง 40% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคตะวันออก 30% ภาคใต้ 20%

5. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (29 เม.ย.68) พุ่ง 300.03 จุด รับความหวังเจรจาการค้าคืบหน้า

6. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (29 เม.ย.68) ร่วง 14.10 เหรียญ เหตุนักลงทุนเทขายทอง หลังเจรจาการค้าคืบหน้า

7. ตลาดหุ้นไทยเปิดวันนี้ (30 เม.ย. 68) บวก 0.48 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,171.46 จุด

8. ทองเปิดตลาดวันนี้ (30 เม.ย. 68) "คงที่" ทองรูปพรรณ ขายออก 53,200 บาท

9. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.30-33.60 บาท/ดอลลาร์

10. ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (30 เม.ย.68) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์

11. ตลาดหุ้นปิด (29 เม.ย.2568) บวก 11.59 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,171.12 จุด

12. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (29 เม.ย.68) ลบ 1.43 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,158.10 จุด

13. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับที่ระดับ 3,270 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 3,350 เหรียญ

14. ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนองในภาคเหนือ-ภาคอีสาน 60% ภาคกลาง 40% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคตะวันออก-ภาคใต้ 30%

15. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (28 เม.ย.68) พุ่ง 49.30 เหรียญ รับแรงซื้อเก็งกำไร

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 1, 2025, 1:40 pm