เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
วิจัยกรุงศรีวิเคราะห์ "เศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากมาตรการภาษีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่น คาดว่าจะเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ด้านเศรษฐกิจจีนเสี่ยงชะลอตัวหากไร้มาตรการกระตุ้นเพิ่ม"


สหรัฐฯ


แม้สหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงการค้าเบื้องต้น แต่ผลจากมาตรการภาษีนำเข้าจะยังคงกดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม ขยับขึ้นเล็กน้อยสู่ 2.4% YoY จากเดือนก่อนที่ 2.3% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวที่ 2.8% ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นสู่ 60.5 จาก 52.2

สหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับจีน พร้อมยกเลิกข้อจำกัดในการส่งออกแร่หายากซึ่งมีความสำคัญต่อกลุ่มอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงยุทโธปกรณ์ทางทหาร อย่างไรก็ตาม ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมายเกี่ยวกับภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ของรัฐบาลทรัมป์ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมาตรการภาษีนำเข้า โดยอาจมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้ารายสินค้าและรายประเทศผ่านกฎหมายอื่นๆ เช่น มาตรา 232, 301, และ 122 ซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะถัดไป วิจัยกรุงศรีคาดว่าเฟดจะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 17-18 มิถุนายน เพื่อรอความชัดเจนจากมาตรการภาษีการค้า นอกจากนี้ ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้นและทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูง อาจกดดันเงินเฟ้อและสร้างความยุ่งยากในการปรับนโยบายการเงินในระยะถัดไป

 
ญี่ปุ่น
 
ภาคบริการอาจช่วยหนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ความเสี่ยงทางการค้าคาดยังคงกดดันการเติบโตในภาพรวม ญี่ปุ่นปรับเพิ่มประมาณการ GDP ไตรมาส 1 เป็นหดตัว -0.2% YoY จากเดิมที่ -0.7% จากแรงหนุนของการบริโภคและสต็อกสินค้าคงคลังที่แข็งแกร่งเกินคาด ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ปรับลดลงจาก +2.0 ลงมาที่ -1.9 ในไตรมาส 2 ซึ่งหดตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส จากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น

เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มโตต่ำต่อเนื่องในปี 2568 แม้ว่าจะได้รับปัจจัยหนุนจากค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น มาตรการอุดหนุนค่าไฟฟ้าและก๊าซ การระบายข้าวในสต็อกเพื่อลดเงินเฟ้อ รวมถึงการขยายตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตและส่งออกคาดว่าจะถูกกดดันจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ทั้งกรณีการเก็บภาษีตอบโต้หรือการปรับขึ้นภาษีนำเข้ารายสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ ด้วยเหตุนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่า BOJ จะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะนี้เพื่อประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างน้อยจนถึงช่วงปลายปีนี้

 
จีน
 
เศรษฐกิจจีนเผชิญแรงกดดันจากภายในและภายนอกต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังต่ำกว่า 1% YoY ติดต่อกัน 27 เดือน ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตติดลบแรงขึ้นจาก -2.7% ในเดือนเมษายนเป็น -3.3% ในเดือนพฤษภาคม โดยติดลบนานกว่า 30 เดือน อีกด้านหนึ่ง การส่งออกรวมขยายตัวชะลอลงจาก 8.1% เป็น 4.8% ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ หดตัวแรงขึ้นจาก -21% เป็น -34.5%

ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดสะท้อนให้เห็นว่า ภาวะอุปทานส่วนเกินยังคงกดดันเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความขัดแย้งทางการค้ายังมีความเสี่ยงอยู่มากแม้การเก็บภาษีแบบตอบโต้อาจเผชิญข้อจำกัดทางกฎหมาย โดยสหรัฐฯ อาจหันไปใช้กฎหมายการค้าอื่น เช่น การเพิ่มรายการสินค้าและเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าภายใต้มาตรา 232 วิจัยกรุงศรีพบว่าการใช้มาตรา 232 อาจทำให้การส่งออกจีนหายไปถึง -3.1% ใกลัเคียงกับผลกระทบจากการเก็บภาษีนำเข้าในปัจจุบันที่ -3.4% อีกทั้งผลลบต่อบางอุตสาหกรรมจะรุนแรงขึ้น เช่น อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า (แรงขึ้น 1.7 เท่า) นอกจากนี้ ยังอาจกดดันให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง เนื่องจากจีนพึ่งพาการส่งออกมากขึ้น สะท้อนจากองค์ประกอบของการเติบโตของ GDP (contribution to growth) ที่มาจากภาคส่งออกถึง 40% ในไตรมาสแรกปีนี้ สูงขึ้นอย่างมากจาก 12% ในไตรมาสที่สองปี 2567

 
 
เศรษฐกิจไทย
การบริโภคภาคเอกชนและภาคท่องเที่ยวมีสัญญาณอ่อนแอลงต่อเนื่อง

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคมร่วงต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ขณะที่ทางการกำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคมลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 ที่ 54.2 จาก 55.4 ในเดือนเมษายน เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับ (i) การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย หลังหมดมาตรการกระตุ้นในไตรมาสแรก (ii) ความเสี่ยงจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และ (iii) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ 

การลดลงอย่างต่อเนื่องของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคบ่งชี้ถึงสัญญาณเชิงลบต่อแนวโน้มการใช้จ่ายภายในประเทศ เมื่อพิจารณาร่วมกับดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) ซึ่งธปท. รายงานว่าในเดือนเมษายนหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน ที่ -4.0% YoY สะท้อนถึงการบริโภคที่อาจถูกกดดันจากหลายปัจจัย อาทิ รายได้ฟื้นตัวช้า ภาระหนี้ครัวเรือนสูง รวมทั้งนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบต่อภาคการผลิตและการจ้างงาน ส่วนการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เริ่มมีความคืบหน้าแต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล หากมีความล่าช้า อาจลดทอนประสิทธิภาพในการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีที่ภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรงขึ้น

 
ภาคท่องเที่ยวมีความเปราะบางมากขึ้นเมื่อทั้งจำนวนและรายได้หดตัวลง ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนฟื้นช้า ในเดือนพฤษภาคม มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยทั้งสิ้น 2.27 ล้านคน ลดลงจาก 2.55 ล้านคน ในเดือนเมษายน และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน -13.9% สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ 95.8 พันล้านบาท ลดลง -18.5% ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ มาเลเซีย จีน รัสเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้ สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม) มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 14.36 ล้านคน ลดลง -2.7% YoY สร้างรายได้ 6.73 แสนล้านบาท ลดลง -5.2%     

การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวยังมีสถานการณ์ที่น่ากังวล ล่าสุดจำนวนนักท่องเที่ยวจีนหล่นมาอยู่อันดับ 2 รองจากมาเลเซีย โดยปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของตลาดจีน ได้แก่ ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย และการแข่งขันกับตลาดท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ สถานการณ์นี้อาจกลายเป็นความเสี่ยงเชิงโครงสร้าง เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวจีนเคยมีสัดส่วนสูงเป็นอันดับหนึ่งและสร้างรายได้จำนวนมากถึง 28% ของรายได้รวมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงก่อนโควิด-19 เทียบกับปัจจุบันซึ่งมีสัดส่วนเพียง 17% ในเดือนพฤษภาคม หากไม่สามารถเร่งฟื้นความเชื่อมั่นและพลิกฟื้นการเติบโต ภาคการท่องเที่ยวอาจไม่สามารถรักษาบทบาทการเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 มิ.ย. 2568 เวลา : 11:22:22
02-07-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. พรุ่งนี้ (2 ก.ค. 68) น้ำมันเบนซิน-แก๊สโซฮอลล์ลดราคา 30 สต./ลิตร

2. ประกาศ กปน.: 3 ก.ค. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนทางหลวงหมายเลข 345

3. ตลาดหุ้นปิด (1 ก.ค.68) บวก 20.45 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,110.01 จุด

4. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (1 ก.ค.68) บวก 2.57 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,092.13 จุด

5. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับที่ระดับ 3,300 เหรียญ และมีแนวต้านสำคัญที่ระดับ 3,350 เหรียญ

6. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (30 มิ.ย.68) บวก 275.50 จุด ขานรับสหรัฐทำข้อตกลงทางการค้ากับจีนและสหราชอาณาจักรคืบหน้า

7. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (30 มิ.ย.68) บวก 20.10 เหรียญ อานิสงส์ดอลลาร์อ่อนค่า

8. ตลาดหุ้นไทยเปิดวันนี้ (1 ก.ค.68) บวก 5.35 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,094.91 จุด

9. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.30-32.55 บาท/ดอลลาร์

10. ทองเปิดตลาดวันนี้ (1 ก.ค.68) ปรับขึ้น 350 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 51,750 บาท

11. พยากรณ์อากาศวันนี้ (1 ก.ค.68) "กรุงเทพปริมณฑล-ภาคตะวันออก" ฝนตกหนัก 70% ภาคเหนือ-ภาคอีสาน-ภาคกลาง 60% ภาคใต้ 40%

12. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (1 ก.ค.68) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 32.41 บาทต่อดอลลาร์

13. ตลาดหุ้นปิด (30 มิ.ย.68) บวก 7.14 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,089.56 จุด

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (30 มิ.ย.68) บวก 3.19 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,085.61 จุด

15. MTS Gold คาดจะมีแนวรับที่ระดับ 3,250 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 3,300 เหรียญ

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 2, 2025, 1:27 am