
ความขัดแย้งในตะวันออกกลางปะทุขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่อิสราเอลเปิดฉากการโจมตีทางอากาศกับอิหร่าน เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมานี้ โดยกล่าวอ้างว่า อิหร่านกำลังพัฒนายูเรเนียมเสริมสมรรถนะ ซึ่งอาจถูกใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ หลังจากนั้นจนถึงตอนนี้ก็มีการโจมตีกันไปมา และยังมีตัวแปรอย่างสหรัฐที่ดูเหมือนจะเอนเอียงไปทางอิสราเอล ยิ่งทำให้สถานการณ์อยู่ในจุดที่อันตรายมากขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกมีความผันผวนอย่างหนัก และยังผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีเลยทีเดียว
เรียกได้ว่าการโจมตีไปมาที่เกิดขึ้นระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ได้สร้างความผันผวนให้กับตลาดโลกอย่างมาก โดยเฉพาะสินทรัพย์อย่างน้ำมัน ที่มีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญในซัพพลายเชนของน้ำมันโลก โดยต้นเหตุของเรื่องนี้ มาจากการที่อิสราเอลกล่าวอ้างว่า อิหร่านกำลังพัฒนายูเรเนียมเสริมสมรรถนะ ซึ่งอาจถูกใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้นอิสราเอลจึงต้องทำการโจมตีเพื่อป้องกันการเกิดหายนะนิวเคลียร์ในอนาคต ผลที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งความสูญเสีย และความไม่สงบ จากการโจมตีกันไปมา ซึ่งราคาน้ำมันดิบโลก ก็ได้ทะยานสูงถึง 7% ทันทีในวันที่อิสราเอลเริ่มเปิดฉากรบ และผันผวนตลอดมาจนถึงวันที่ 17 มิ.ย. 2568 ที่ระดับราคาน้ำมันดิบสูงสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากท่าทีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 7 (G7) ประเทศแคนาดา ที่มีการหารือร่วมกันว่าต้องการให้ทุกฝ่ายลดระดับความตึงเครียดที่เกี่ยวข้องกับอิหร่าน และผลักดันให้หยุดยิงในฉนวนกาซาด้วย พร้อมกับย้ำว่าอิสราเอลมีสิทธิ์ในการป้องกันตนเอง ท่ามกลางวิกฤตในตะวันออกกลางที่กำลังลุกลามบานปลาย
แต่ถึงอย่างนั้น ทรัมป์ได้มีการออกจากการประชุมกลางคันก่อนกำหนดหนึ่งวัน และเร่งเร้าให้รัฐบาลเตหะรานของอิหร่านตกลงตามเงื่อนไขของเขาว่าต้องยุติส่งเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่ใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนทางรัฐบาลของอิหร่านเองก็ได้ขอให้โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย ช่วยกันกดดันทรัมป์ ให้ใช้อิทธิพลต่อนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู เพื่อให้เกิดการหยุดยิงโดยเร็วที่สุด โดยอิหร่านพร้อมจะแสดงความยืดหยุ่นในการเจรจาปัญหานิวเคลียร์เป็นการตอบแทน
อย่างไรก็ตาม ความแข็งกร้าวที่สหรัฐต้องการให้อิหร่านยอมรับข้อตกลง รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็ทวีคุณความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นไม่จบไม่สิ้น ทำให้ทั้งโลกเกิดการคาดเดาว่าสหรัฐ อาจร่วมกับอิสราเอลโจมตีอิหร่าน เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศพันธมิตรมีความต้องการร่วมกันว่าจะไม่ให้อิหร่านผลิตนิวเคลียร์
ดังนั้นเองทำให้ตลาดเกิดความกังวลเกี่ยวกับการหยุดชะงักของอุปทานในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะน้ำมันดิบ เนื่องจากอิหร่านเป็นสมาชิกกลุ่ม OPEC และเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก โดยจะส่งออกให้กับทางจีนเป็นหลัก ซึ่งทางจีนนับว่ามีโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เป็นแหล่งกระจายน้ำมันสำเร็จรูปรายใหญ่ ไปยัง ฮ่องกง สิงคโปร์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรป ดังนั้นการที่อิหร่านยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย อีกทั้งสหรัฐมีท่าทีไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าสหรัฐจะร่วมกับอิสราเอล และมีการคุมการส่งออกน้ำมันเพิ่มหรือไม่ ทำให้เกิดความผันผวนของราคาน้ำมันดิบโลก โดยนับจากการเปิดฉากโจมตีถึงปัจจุบันนี้ ราคาน้ำมันก็พุ่งทะยานไป 10% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดย ณ ตอนนี้ ราคาน้ำมันดิบดูไบ Dubai Crude Oil อยู่ที่ 70.85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นเดือนมิ.ย. ที่อยู่ที่ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลมีการปรับขึ้นชัดเจนอยู่ที่ 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิมอยู่ที่ 88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งทางด้านฝั่งของไทย สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นกลไกในการดูแลการขายปลีก ตอนนี้ได้มีมติลดเงินนำส่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันดีเซลลงอีก 50 สตางค์ต่อลิตร โดยมีผลตั้งแต่ 18 มิ.ย. 2568 เพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้ปรับขึ้น เพื่อลดภาระประชาชนและภาคการขนส่ง สำหรับสถานการณ์ที่น้ำมันดิบโลกยังคงผันผวนปัจจุบัน เนื่องจากน้ำมันดีเซล มีผลต่อราคาสินค้าหลากหลายประเภท จึงต้องคุมต้นทุนไม่ให้ราคาสินค้าสูงไปกว่านี้ ขณะที่ปริมาณสำรองน้ำมันดิบของไทยคงเหลืออยู่ที่ 3,337 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ 25 วัน และมีน้ำมันดิบที่อยู่ในระหว่างขนส่งอีก 2,457 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 19 วัน ส่วนน้ำมันสำเร็จรูป มีปริมาณอยู่ที่ 1,847 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 16 วัน รวมปริมาณน้ำมันคงเหลือของไทยที่สามารถใช้ได้ 60 วัน
ข่าวเด่น