เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.เผยโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ระยะที่ 2


ตามที่กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) บางแห่ง ออกมาตรการชั่วคราวเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เฉพาะกลุ่ม ภายใต้โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" (โครงการฯ) นั้น 

ตั้งแต่เริ่มเปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 จนถึงล่าสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 มีลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ลงทะเบียนทั้งสิ้น 1.4 ล้านราย ครอบคลุม 1.9 ล้านบัญชี และจากการสำรวจข้อมูลการคัดกรองคุณสมบัติลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2568 พบว่าลูกหนี้ที่ลงทะเบียนมีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ ได้ มีจำนวน 6.3 แสนราย (คิดเป็นร้อยละ 32 ของลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 1.9 ล้านราย) เป็นยอดหนี้ 4.6 แสนล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 52 ของยอดหนี้ ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 8.9 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะต้องเร่งติดต่อลูกหนี้เพื่อดำเนินการทำข้อตกลงในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ยังมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางจำนวนมากที่มีปัญหาในการชำระหนี้ และพบว่าลูกหนี้ยังให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง แต่บางส่วนไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด กระทรวงการคลัง สศช. ธปท. ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ จึงเห็นควรขยายระยะเวลาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 1 (จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2568) และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 2 ที่ยังคงยึดหลักการสำคัญเช่นเดียวกับโครงการฯ ระยะที่ 1 ได้แก่ การช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสรอดให้สามารถฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติเมื่อรายได้ฟื้นตัวในระยะข้างหน้า หรือให้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น โดยออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เฉพาะกลุ่มเป็นการชั่วคราว และมีแนวทางป้องกันมิให้ลูกหนี้เสียวินัยในการชำระหนี้ (moral hazard) ควบคู่ไปด้วย จึงยังคงการพิจารณาคุณสมบัติของลูกหนี้ไว้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 เช่นเดียวกับโครงการฯ ระยะที่ 1 

โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 2 ได้ปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการเดิม และมีมาตรการใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุมมากขึ้น สำหรับลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ดังนี้

มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” ขยายคุณสมบัติลูกหนี้ที่เข้ามาตรการให้ครอบคลุมถึง 

1) ลูกหนี้ที่มีวันค้างชำระเกิน 365 วัน และ 2) ลูกหนี้ที่เคยมีประวัติค้างชำระน้อยกว่าที่กำหนดในระยะที่ 1 คือ เคยค้างชำระ 1 - 30 วัน และเคยปรับโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่วงเงินไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” ขยายเพดานภาระหนี้ของลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น โดย 1) สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ขยายเพดานภาระหนี้คงค้างเป็นไม่เกิน 10,000 บาทต่อบัญชี และ

 2) สินเชื่อที่มีหลักประกัน (secured loan) ซึ่งได้มีการบังคับหลักประกันแล้ว และมีวงเงินสินเชื่อ ไม่เกินกว่าที่กำหนด (วงเงินสินเชื่อบ้าน หรือ สินเชื่อ SMEs ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อบัญชี สินเชื่อรถยนต์ไม่เกิน 800,000 บาทต่อบัญชี สินเชื่อรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี) ขยายเพดานภาระหนี้คงค้างเป็นไม่เกิน 30,000 บาทต่อบัญชี เพื่อให้ลูกหนี้เหล่านี้สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก "หนี้เสีย" เป็น "ปิดจบหนี้" และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น

มาตรการที่ 3 “จ่าย ตัด ต้น” ซึ่งเป็นมาตรการใหม่สำหรับหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน (unsecured loan) ที่มียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี และเป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) โดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้มีเงื่อนไขการผ่อนชำระคืนเป็นงวด (term loan) และผ่อนชำระร้อยละ 2 ของเงินต้นคงค้าง เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งค่างวดที่ชำระจะนำไปตัดเงินต้นทั้งจำนวน สำหรับดอกเบี้ยจะพักแขวนไว้ และจะได้รับยกเว้นดอกเบี้ยในระหว่างมาตรการหากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ทั้งในปัจจุบันและระยะต่อไปได้ 

ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการภายใต้โครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 สามารถศึกษารายละเอียดและสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 หรือติดต่อสาขาของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call center ของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการฯ หรือ BOT contact center ของ ธปท. โทร. 1213
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ก.ค. 2568 เวลา : 17:36:26
05-07-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นปิด (4 ก.ค.2568) ลบ 7.27 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,119.94 จุด

2. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับอยู่ที่ระดับ 3,320 เหรียญ และ แนวต้านอยู่ที่ระดับ 3,350 เหรียญ

3. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (4 ก.ค.68) ลบ 3.23 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,123.96 จุด

4. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (3 ก.ค.68) บวก 344.11 จุด ขานรับตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรแข็งแกร่งเกินคาด

5. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.35-32.60 บาท/ดอลลาร์

6. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (3 ก.ค.68) ลบ 16.80 เหรียญ กังวลเฟดชะลอลดดอกเบี้ย หลังจ้างงานแกร่งเกินคาด

7. พยากรณ์อากาศวันนี้ (4 ก.ค.68) "กรุงเทพปริมณฑล-ภาคอีสาน-ภาคตะวันออก" ฝนตกหนัก 70% ภาคกลาง 60% ภาคใต้ 30-40%

8. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (4 ก.ค.68) อ่อนค่าลงเล็กน้อย ที่ระดับ 32.43 บาทต่อดอลลาร์

9. ทองเปิดตลาดวันนี้ (4 ก.ค. 68) ลดลง 100 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 52,000 บาท

10. ตลาดหุ้นไทยเปิด (4 ก.ค.68) บวก 0.56 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,127.77 จุด

11. ประกาศ กปน.: 19 ก.ค. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล สถานีสูบจ่ายน้ำมีนบุรี

12. ตลาดหุ้นปิด (3 ก.ค.68) บวก 11.52 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,127.21 จุด

13. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (3 ก.ค.68) บวก 3.67 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,119.36 จุด

14. พยากรณ์อากาศวันนี้ (3 ก.ค.68) ภาคตะวันออก ฝนตกหนัก 80% กรุงเทพปริมณฑล และภาคอื่น 70% เว้นภาคใต้ 60%

15. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (2 ก.ค.68) ลบ 10.52 จุด กังวลจ้างงานภาคเอกชนลดลง

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 5, 2025, 12:41 am