เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ "แนวโน้มธุรกิจบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก"


· ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทยในปี 2568 คาดมีมูลค่าราว 6.1 พันล้านบาท ขยายตัว 3.1% จากความต้องการใช้บริการที่ยังเพิ่มขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสอดคล้องไปกับเทรนด์โลก แต่ชะลอลงจากปีก่อนที่โต 4.3% ตามจำนวนผู้มารับบริการต่างชาติที่โตช้าลง รวมถึงมีปัจจัยกดดันจากภาวะเศรษฐกิจกำลังซื้อที่ลดลงของคนในประเทศ

· ในปี 2568 มูลค่าตลาดผู้รับบริการชาวไทย คาดว่าจะขยายตัว 2.8% จากค่านิยมมีบุตรช้าลง และปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ที่มีความซับซ้อนและมีสาเหตุมาจากเพศชายมากขึ้น ทำให้ต้องพึ่งพาวิธีการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ขณะที่ มูลค่าตลาดผู้รับบริการชาวต่างชาติ คาดว่าจะขยายตัว 3.5% โดยมีแรงหนุนจากราคาและคุณภาพบริการที่ยังโดดเด่น รวมถึงการขยายตลาดใหม่ของธุรกิจ

 
แนวโน้มตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลก

ปี 2568 คาดตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลก มีมูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 6.8% จากปีก่อน (รูปที่ 2)

มูลค่าตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลกยังมีทิศทางเติบโต นำโดยการบริการรักษาด้วยวิธีทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertility: IVF) ที่มีสัดส่วนมากกว่า 80% ของมูลค่าตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่คาดว่าส่วนแบ่งตลาดการรักษาด้วยวิธี IVF จะเพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2563 ไปเป็น 26% ในปี 2573 จากหลายประเทศเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยในระดับที่รุนแรงขึ้น

 
อัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง ประกอบกับปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ เป็นปัจจัยหนุนหลักที่ทำให้ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลกยังมีทิศทางขยายตัว

อัตราการเจริญพันธุ์ของโลกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากในปี 2513 ที่ผู้หญิง 1 คนมีบุตรจำนวน 4.8 คน เหลือเพียง 2.2 คน ในปี 2568 (รูปที่ 3) รวมถึงค่านิยมในการมีบุตรที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คู่สมรสทั่วโลกมีบุตรช้าลง สะท้อนจากอายุเฉลี่ยในการคลอดบุตรคนแรกทยอยปรับเพิ่มขึ้นจนปัจจุบันอยู่ที่ราว 28 ปี เทรนด์ดังกล่าวส่งผลให้ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

นอกจากนี้ จากปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ที่พบบ่อยขึ้นทั่วโลก ยังหนุนการเดินทางออกไปรับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากในต่างประเทศ (Fertility Tourism) ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3 หรือราว 14% ของมูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลก1 ให้ยังขยายตัว ทั้งนี้ การเติบโตของตลาด Fertility Tourism ของโลก ส่งผลให้ไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากการเดินทางเข้ามารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของชาวต่างชาติมากขึ้น

แนวโน้มตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทย

ปี 2568 คาดตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทย2 มีมูลค่าราว 6.1 พันล้านบาท เติบโต 3.1% ชะลอลงจากปี 2567 ที่โต 4.3% (รูปที่ 4) โดยตลาดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ลูกค้าชาวไทย มีสัดส่วน 70% ของผู้มาใช้บริการทั้งหมด และลูกค้าชาวต่างชาติอีก 30%

 
 
มูลค่าตลาดรวมในปี 2568 คาดว่าจะเติบโตชะลอลงจากปีที่ผ่านมา โดยเป็นผลมาจากการเดินทางเข้ามารับบริการของชาวต่างชาติที่โตช้าลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สอดคล้องไปกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยที่มีทิศทางหดตัวจากปีก่อน ขณะที่ ตลาดชาวไทย ยังมีแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจกำลังซื้อที่ลดลง ทำให้บางส่วนอาจตัดสินใจเลื่อนแผนการมีบุตรออกไป

ส่วนรายได้ของธุรกิจผู้ให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากในปีนี้ คาดว่าอัตราการเติบโตจะลดลง ตามจำนวนผู้มารับบริการ/รอบการเก็บไข่ที่ไม่ได้เร่งตัวเหมือนปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1 ที่ยังมีผลของค่านิยมคลอดบุตรในปีมังกร ขณะเดียวกัน ธุรกิจยังมีปัจจัยกดดันจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูง อาทิ การลงทุนขยายสาขาหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ค่าทำการตลาด รวมถึงค่าตอบแทนบุคลากรที่มีสัดส่วนราว 30%-40% ของต้นทุนรวม ส่งผลให้อัตรากำไรมีแนวโน้มลดลง

ตลาดผู้รับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากชาวไทย

มูลค่าตลาดชาวไทยที่มารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก คาดอยู่ที่ 3.38 พันล้านบาท ขยายตัว 2.8% ในปี 2568 (รูปที่ 5) จากค่านิยมมีบุตรช้าลง และปัญหาด้านการเจริญพันธุ์

มูลค่าตลาดชาวไทยที่มีสัดส่วนกว่า 55% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ยังเติบโตได้ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้คู่สมรสชาวไทยนิยมมีบุตรช้าลง สะท้อนจากสัดส่วนการคลอดของหญิงไทยที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนราว 35% ในปี 2555 คาดว่าจะขยับมาเป็น 46% ในปี 2568 (รูปที่ 6) รวมถึงหลายคู่ประสบภาวะมีบุตรยากจากปัญหาสุขภาพ เช่น ความไม่สมบูรณ์ของฮอร์โมน โรคอ้วน และโรคเครียดจากการทำงาน เป็นต้น

 
 
การรักษาด้วยวิธีเด็กหลอดแก้วแบบ ICSI ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้รับบริการชาวไทย จากสาเหตุการมีบุตรยากมีความซับซ้อนและเกิดจากเพศชายมากขึ้น

อีกหนึ่งปัจจัยหนุนมูลค่าตลาดชาวไทย มาจากการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีผสมเทียม (IUI) เริ่มได้รับความนิยมน้อยลง สะท้อนจากช่วงหลังโควิดจำนวนรอบการรักษาด้วยวิธี IUI มีสัดส่วนลดลงจาก 31% ในปี 2565 คาดว่าจะเหลือเพียง 28% ในปี 2568 เช่นเดียวกับการทำเด็กหลอดแก้วแบบปกติ (IVF) ที่อัตราการเติบโตของรอบการรักษาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 1.2% ต่อปี ขณะที่ การรักษาด้วยการทำเด็กหลอดแก้วแบบเฉพาะเจาะจง (ICSI) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 7.2% ต่อปี (CAGR ปี 2565-2568)

แนวโน้มการรักษาด้วย ICSI ที่โตขึ้นดังกล่าว สอดคล้องไปกับผู้ประกอบการในธุรกิจที่ระบุว่าระยะหลัง ภาวะมีบุตรยากที่พบในคู่สมรสชาวไทยมีความซับซ้อน และพบว่าเกิดในฝั่งเพศชายมากขึ้นจากความไม่สมบูรณ์ของน้ำเชื้ออสุจิตามพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และความผิดปกติที่เกิดจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เป็นต้น ซึ่งการรักษาด้วย ICSI ที่เป็นนวัตกรรมใหม่จะให้อัตราความสำเร็จที่สูงกว่าวิธีอื่น ๆ หากผู้รักษามีภาวะข้างต้น

ตลาดผู้รับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากชาวต่างชาติ

มูลค่าตลาดต่างชาติที่เดินทางมารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก คาดอยู่ที่ 2.75 พันล้านบาท ขยายตัว 3.5% ในปี 2568 (รูปที่ 7) จากไทยยังมีจุดเด่นด้านราคาและคุณภาพการบริการ

มูลค่าตลาดต่างชาติที่มีสัดส่วนกว่า 45% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ยังเติบโต จากผู้รับบริการในกลุ่มประเทศจีน อินเดีย และอาเซียน ที่นิยมเดินทางเข้ามารักษาภาวะมีบุตรยากในไทยต่อเนื่อง แม้ปีนี้ลูกค้าหลักอย่างชาวจีนอาจชะลอลง ตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่ยังเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง แต่ภาพรวมไทยยังเป็นหนึ่งในจุดหมายหลักของการเดินทางมารับบริการ จาก Fertility Tourism ที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น

 
 
- ค่ารักษาพยาบาลยังต่ำกว่าคู่แข่ง การรักษาโดยวิธี IVF ในไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ราว 6,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย รวมถึง จำนวนสถานพยาบาลไทยที่ได้มาตรฐาน Joint Commission International (JCI) มากกว่าหลายประเทศ (รูปที่ 8)

- ความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่ชาวต่างชาตินอกเหนือจากการรักษา เช่น โรงแรม/ที่พัก ร้านอาหาร ศูนย์การค้า รวมถึงการออก Medical Treatment Visa ให้แก่ผู้มารับบริการชาวต่างชาติที่ต้องพำนักในไทยเพื่อติดตามผลการรักษา

กลุ่มผู้รับบริการชาวต่างชาติยังเป็นตลาดศักยภาพ สะท้อนจากธุรกิจเน้นทำการตลาด เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้ให้มาใช้บริการเพิ่มขึ้น

จำนวนผู้รับบริการชาวต่างชาติที่ยังโต ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจบริการรักษาภาวะมีบุตรยากในไทยเน้นทำการตลาดผ่านช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงตัวแทน (Agent) เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติให้มารับบริการในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะมีบุตรยากของชาวต่างชาติสูงกว่าชาวไทยราว 1 เท่าตัว จากต้องมีบริการเสริมอื่น ๆ เพิ่มเติมในแพ็กเกจการรักษา (ล่าม รถรับส่ง ค่า Commission ฯลฯ) ดังนั้น การขยายตลาดศักยภาพใหม่ ๆ เช่น สหภาพยุโรป และตะวันออกกลาง จึงสะท้อนโอกาสสร้างรายได้ส่วนเพิ่มของธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่มีสัดส่วนรายได้จากชาวต่างชาติราว 20%-30% ของรายได้รวม

โอกาสของธุรกิจบริการรักษาภาวะมีบุตรยากในระยะข้างหน้า

· นโยบายสนับสนุนการมีบุตรของรัฐบาลจีน เช่น การผ่อนปรนให้มีบุตรคนที่ 3 และล่าสุดยังให้เงินช่วยเหลือการเลี้ยงบุตรสำหรับเด็กเกิดใหม่ปีละ 3,600 หยวนต่อเด็ก 1 คนจนอายุ 3 ขวบ เพื่อจูงใจให้คนมีบุตร ท่ามกลางวิกฤติประชากรจีนที่ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565 ทำให้คาดว่ารัฐบาลจีนจะยังใช้นโยบายเหล่านี้ในระยะกลาง-ยาว ส่งผลให้ไทยที่เป็นหนึ่งในจุดหมายหลักของการเดินทางมารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของชาวจีน น่าจะได้อานิสงส์จากการบริการภายในประเทศจีนที่ยังไม่เพียงพอ

· การบังคับใช้ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ทำให้ต้องมีการปรับแก้กฎหมายลูกต่าง ๆ ให้สอดรับกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยเฉพาะการยอมให้คู่สมรสเพศเดียวกันมีบุตรได้ผ่านการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทยให้เปิดกว้างมากขึ้น ครอบคลุมไปถึงกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ที่ปัจจุบันในไทยมีอยู่ราว 5.9 ล้านคน3 หรือคิดเป็น 9% ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

· การเตรียมปรับกฎหมายอุ้มบุญของไทย โดยเฉพาะการยอมให้คู่สมรสเพศเดียวกัน และชาวต่างชาติสามารถใช้บริการอุ้มบุญได้ หากมีการปรับแก้สำเร็จ คาดว่าจะมีส่วนหนุนให้การบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ของไทยเติบโตได้เพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ยังคงต้องติดตามรายละเอียดของการปรับกฎหมายดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมเสนอ ครม. พิจารณา

· เทรนด์มีลูกเมื่อพร้อม หนุนบริการแช่แข็ง/ฝากไข่โตทั่วโลก สะท้อนจากมูลค่าตลาดบริการแช่แข็ง/ฝากไข่ของโลกที่คาดว่าจะโตเฉลี่ยปีละ 8% (CAGR 2566-2571) สูงกว่าอัตราการเติบโตของบริการอื่น ๆ ในตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ทำให้ไทยอาจแข่งขันในตลาด Fertility Tourism ได้มากขึ้นจากกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเข้มงวดน้อยกว่าบางคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์มีการกำหนดช่วงอายุสตรีที่รับบริการได้อยู่ระหว่าง 21-37 ปี และมาเลเซียกำหนดให้สตรีโสดที่จะแช่แข็ง/ฝากไข่ได้ต้องไม่ใช่ชาวมุสลิม เป็นต้น

ความเสี่ยงของธุรกิจบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก

· การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากเป็นที่ตั้งของสถานพยาบาลมากกว่า 70% ของผู้ให้บริการทั้งหมด รวมถึงสถานพยาบาลจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่เริ่มเข้ามารุกตลาดในไทยมากขึ้นในลักษณะการร่วมลงทุนกับสถานพยาบาลในไทยที่มีความพร้อมทั้งด้าน

เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ อย่างไรก็ดี รายได้ของธุรกิจนี้ยังขึ้นอยู่กับมาตรฐานและอัตราความสำเร็จเป็นสำคัญ ส่งผลให้ธุรกิจจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพการบริการ และต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จ เพื่อรักษารายได้และอัตรากำไรในระยะยาว

· จำนวนบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากมีจำกัด โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์การเพาะเลี้ยงตัวอ่อน จากยังไม่มีหลักสูตรอุดมศึกษาในไทยที่เปิดสอนด้านนี้โดยตรง ส่งผลให้ธุรกิจต้องมีการวางแผนกำลังคน จัดฝึกอบรมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกำหนดนโยบายค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลน/ย้ายงานของบุคลากรดังกล่าวในอนาคต

· การเปลี่ยนแปลงมาตรการอุดหนุนการรักษาภาวะมีบุตรยากในประเทศของคนไข้ต่างชาติ เช่น ภายในปี 2568 รัฐบาลจีนจะขยายการอุดหนุนการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ (ART services) ผ่านระบบประกันสุขภาพพื้นฐานครอบคลุม 31 มณฑล ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลต่อการตัดสินใจมารับบริการในไทยของคนไข้ชาวจีนบางกลุ่ม นอกจากนี้ ธุรกิจยังมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีที่อาจส่งผลต่ออัตราความสำเร็จและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ เช่น การใช้ AI คัดเลือกตัวอ่อน และเทคโนโลยี In Vitro Gametogenesis (IVG) เป็นต้น
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.ค. 2568 เวลา : 16:33:51
15-07-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. ประกาศ กปน.: 16 ก.ค. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนเจริญกรุงตัดถนนสาทรใต้

2. ตลาดหุ้นปิด (14 ก.ค.68) บวก 22.18 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,143.31 จุด

3. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะเคลื่อนไหวระหว่างแนวรับที่ระดับ 3,345 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 3,385 เหรียญ

4. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (14 ก.ค.68) บวก 10.78 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,131.91 จุด

5. พยากรณ์อากาศวันนี้ (14 ก.ค.68) กรุงเทพปริมณฑล-ภาคเหนือ-ภาคอีสาน-ภาคตะวันออก ฝนฟ้าคะนอง 60% ภาคกลาง 40% ภาคใต้ 40-60%

6. กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 32.10-32.80 ติดตามสงครามการค้าและเงินเฟ้อสหรัฐฯ

7. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.30-32.55 บาท/ดอลลาร์

8. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (14 ก.ค.68) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ที่ระดับ 32.38 บาทต่อดอลลาร์

9. ทองเปิดตลาดวันนี้ (14 ก.ค. 68) ปรับขึ้น 50 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 52,300 บาท

10. ตลาดหุ้นไทยเปิดวันนี้ (14 ก.ค.68) บวก 5.21 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,126.34 จุด

11. ตลาดหุ้นไทยปิด (11 ก.ค.68) บวก 10.73 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,121.13 จุด

12. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (10 ก.ค.68) บวก 192.34 จุด รับข้อมูลแรงงานสดใส

13. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (10 ก.ค.68) บวก 4.70 เหรียญ กังวลภาษีทรัมป์แห่ซื้อทองสินทรัพย์ปลอดภัย

14. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (11 ก.ค.68) บวก 17.31 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,127.71 จุด

15. พยากรณ์อากาศวันนี้ (11 ก.ค.68) ภาคเหนือ ฝนตกหนัก 80% ภาคอีสาน-ภาคใต้ ฝั่ง ตต. 70% กรุงเทพปริมณฑล-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก 60% ภาคใต้ ฝั่ง ตอ. 40%

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 15, 2025, 9:24 am