
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โดย ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการธนาคาร เข้าร่วมงาน The Muzakarah of Nusantara Shariah Scholars (MUZAKARAH) 2025 หรือ “Muzakarah 2025” ว่าด้วยการปฏิรูประบบการเงินอิสลามแบบบูรณาการ ภายใต้หลักสูตรขั้นสูง แนวทางการวางกรอบและวินิจฉัยฟัตวาทางด้านฟิกห์มุอามะลาตและการสัมมนา ซึ่งจัดโดยคณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับศูนย์เศรษฐศาสตร์และการเงินอิสลาม และ INCEIF University ภายใต้การกำกับของธนาคารกลางประเทศมาเลเซีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือทางวิชาการและวิชาชีพของนักวิชาการชะรีอะฮ์ นักเศรษฐศาสตร์การเงินอิสลาม ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมการเงิน ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมรวมกว่า 300 คน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบการเงินอิสลามในอาเซียน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การยกระดับมาตรฐานชะรีอะฮ์ และการส่งเสริมบทบาทขององค์กรในระบบเศรษฐกิจและการเงินอิสลาม

พิธีเปิดงานได้รับเกียรติจาก พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ซึ่งได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การปฏิรูประบบการเงินอิสลามแบบบูรณาการ” ทั้งยังได้รับเกียรติจากผู้แทนองค์กรชั้นนำในภาคการเงินอิสลาม อาทิ นายอัดนัน ซัยลานี รองผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย ดร.ปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดาโต๊ะ เชค ฮัจยี ซาการียา อุสมาน ผู้อำนวยการองค์กรซะกาต รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย และ ผศ.ดร.มะรอนิง สาแลมิง ประธานที่ปรึกษา ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมอัลมีรอซ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568

ภายในงาน ดร.ทวีลาภ ได้กล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ “Navigating Transformation with Maqasid al-Shariah in Mind: The ibank Digitalization Journey” ซึ่งกล่าวถึงแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของธนาคาร โดยยึดคุณค่าตามหลักชะรีอะฮ์เป็นแกนกลาง ผ่าน 5 มิติหลักของการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนกรอบชะรีอะฮ์ภิบาล (Maqasid al-Shariah) ได้แก่ 1. มิติด้านลูกค้า (Customers) ที่ธนาคารมองลูกค้าในฐานะส่วนหนึ่งของ “อุมมะฮ์” ไม่ใช่เพียงผู้ถือบัญชี การให้บริการทางการเงิน จึงต้องตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจและจิตวิญญาณ โดยเน้นความเข้าถึงและครอบคลุมผ่านบริการที่สอดคล้องกับหลักชะรีอะฮ์ 2. มิติด้านการแข่งขัน (Competition) ที่เปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้แข่งขันในอุตสาหกรรม” สู่ “ผู้เชื่อมโยงระบบนิเวศฮาลาล” โดยร่วมมือกับฟินเทค ผู้ค้า และแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้บริการที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของชาวมุสลิมในทุกมิติ 3. มิติด้านข้อมูล (Data) ซึ่งถือเป็น “อามานะฮ์” หรือความไว้วางใจ ไม่ใช่เครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ โดยธนาคารมุ่งใช้ข้อมูลเพื่อออกแบบบริการเฉพาะบุคคล บนพื้นฐานของความโปร่งใส เป็นธรรม และการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวตามหลักศาสนา 4. มิติด้านนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งธนาคารให้ความสำคัญกับการร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์กับผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาตั้งแต่ต้น เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย ถูกต้องตามหลักชะรีอะฮ์ และเกิดประโยชน์จริงในชีวิต และ 5. มิติด้านการสร้างคุณค่า (Value) ที่วัดความสำเร็จจากผลลัพธ์ต่อสังคม ไม่ใช่เพียงผลประกอบการ โดยมุ่งส่งเสริมความยุติธรรมทางการเงิน ความยั่งยืน และคุณภาพชีวิตที่ดีตามหลักศาสนา

นอกจากนี้ ดร.ทวีลาภ ยังได้นำเสนอแนวทางการเปลี่ยนผ่านที่สอดคล้องกับหลักศาสนา อาทิ การสร้างวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมที่ยึดหลักชะรีอะฮ์ โดยส่งเสริมให้บุคลากรพัฒนาเทคโนโลยีด้วยจิตสำนึกทางศาสนาและความรับผิดชอบต่อสังคม การจัดตั้งกรอบจริยธรรมด้าน AI และข้อมูล เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติที่ยึดหลัก “อามานะฮ์” โปร่งใส และเป็นธรรมในทุกขั้นตอน และการปรับมุมมองเรื่องความสำเร็จ โดยใช้ตัวชี้วัดที่เน้นการเข้าถึง ความครอบคลุม และคุณค่าทางสังคม มากกว่าการวัดผลด้วยตัวเลขทางการเงินเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ ไอแบงก์ต้องการแสดงให้เห็นถึงทิศทางการเปลี่ยนผ่านที่ไม่เพียงมุ่งสู่ความทันสมัยทางเทคโนโลยี แต่ยังยึดมั่นในหลักศาสนา เพื่อสร้างอนาคตที่ทันสมัย มีคุณธรรม และยั่งยืนอย่างแท้จริง ดร.ทวีลาภ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น