ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (28 เม.ย.68) "ทรงตัว" ที่ระดับ 33.55 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (28 เม.ย.68) ที่ระดับ  33.55 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยน แปลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) แกว่งตัวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.49-33.63 บาทต่อดอลลาร์) สอดคล้องกับทิศทางการเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ของทั้งเงินดอลลาร์และราคาทองคำด้วยเช่นกัน หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งจะทยอยรับรู้ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มีส่วนกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง และช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นเหนือโซน 3,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งภาพดังกล่าวก็พอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง ทำให้เงินบาทยังคงแกว่งตัวแถวโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ 

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ได้แรงหนุนจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน (Risk-On) ขณะเดียวกัน ราคาทองคำก็ปรับตัวลดลงหนักจากจุดสูงสุดใหม่ล่าสุด

สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ พร้อมรอลุ้น ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย และผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รวมถึง รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ สหรัฐฯ

 
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

* ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) รวมถึงยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2025 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนเมษายน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ในกลุ่ม The Magnificent 7 รวมถึงบรรดาหุ้นในธีม AI/Semiconductor ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ 

* ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของทั้งธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสแรกของปี 2025 อัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนเมษายน และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectations) ของยูโรโซน ในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมทั้งรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และ BOE โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ECB อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้ง ส่วน BOE มีโอกาสเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม 3-4 ครั้ง ในปีนี้   

* ฝั่งเอเชีย – เราประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% เพื่อรอประเมินแนวโน้มนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ให้แน่ชัด แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของ BOJ ชัดเจน จะเปิดโอกาสให้ BOJ เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมก็ตาม อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า BOJ มีโอกาสราว 72% ที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในปีนี้ ในฝั่งจีน ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ในเดือนเมษายน ซึ่งจะมีการรายงานทั้งดัชนี Official PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ ที่เน้นบริษัทขนาดใหญ่และ SOEs เป็นหลัก รวมถึง ดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิต ที่จะเน้นบริษัทขนาดเล็ก-กลาง

* ฝั่งไทย – เราประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 1.75% เพื่อประคองเศรษฐกิจ ท่ามกลางแรงกดดันจากภาคการผลิตที่ยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง แรงกดดันเพิ่มเติมจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายดังกล่าว (หากเกิดขึ้นจริงตามคาด) จะสอดคล้องกับการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกเหนือจากผลการประชุม กนง. ดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรม และ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในเดือนเมษายน สำหรับ แนวโน้มเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทมีกำลังมากขึ้น ทำให้เงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up โดยในสัปดาห์ 28 เมษายน ถึง 2 พฤษภาคม นั้น เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่อาจสูงราว 5-6 พันล้านบาท (ประเมินจากบรรดาบริษัทจดทะเบียน) ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด โดยหากราคาทองคำยังคงอยู่ในช่วงการพักฐาน (Correction) ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้ ในเชิงเทคนิคัลนั้น เงินบาทจะกลับมายังอยู่ในแนวโน้มการอ่อนค่าได้อีกครั้ง หากสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 33.85 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following ทั้งนี้ แนวรับแรกของเงินบาทยังอยู่ในช่วง 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนโซนแนวต้านจะอยู่แถว 33.70-33.80 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านสำคัญถัดไป 34.00 บาทต่อดอลลาร์)

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาท (USDTHB) เสี่ยงทยอยอ่อนค่าลง “Sideways Up” ท่ามกลางแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ ส่วนราคาทองคำอาจยังอยู่ในช่วงการพักฐานต่อ ทว่าบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาด อาจหนุนให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุน หากตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (ซึ่งอาจกดดันเงินเยนญี่ปุ่นไปพร้อมกัน) โดยต้องรอลุ้นรายงานผลประกอบการบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ทั้งนี้ เงินดอลลาร์เสี่ยงผันผวนสูง ขึ้นกับรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ว่าจะออกมาในทิศทางใด

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.05-33.80 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.65 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 เม.ย. 2568 เวลา : 10:52:39

01-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 1, 2025, 4:02 pm