ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (9 พ.ค.68) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 33.02 บาทต่อดอลลาร์


 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (9 พ.ค.68) ที่ระดับ  33.02 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ  32.83 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนทะลุโซนแนวต้าน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้สำเร็จ (แกว่งตัวในกรอบ 32.75-33.12 บาทต่อดอลลาร์) ตามการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้รับอานิสงส์จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ท่ามกลางความหวังสถานการณ์สงครามการค้าจะทยอยคลี่คลายลงได้ จากล่าสุดที่สหรัฐฯ กับอังกฤษ สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเบื้องต้น อีกทั้ง ทางการสหรัฐฯ กับจีนก็เตรียมที่จะเจรจาการค้าในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ขณะเดียวกัน รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ ล่าสุดซึ่งออกมาดีกว่าคาด ก็มีส่วนช่วยหนุนเงินดอลลาร์ ผ่านการปรับลดความคาดหวังเฟดเร่งลดดอกเบี้ย โดยผู้เล่นในตลาดกลับมาประเมินว่า เฟดมีโอกาสราว 76% ที่จะลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ในปีนี้ นอกจากนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินดังกล่าว ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง และจังหวะย่อตัวลงของราคาทองคำดังกล่าวก็มีส่วนยิ่งกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ท่ามกลางความหวังต่อแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างปรับตัวสูงขึ้น นำโดย Tesla +3.1%, Alphabet +1.9% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.58%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.40% ตอบรับข่าวสหรัฐฯ กับอังกฤษสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเบื้องต้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด 

ในส่วนตลาดบอนด์ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน (Risk-On) กอปรกับ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด (ล่าสุดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 76% ที่จะลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง ในปีนี้) ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นสู่โซน 4.38% โดยเราคงคำแนะนำเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวได้ (เน้น Buy on Dip) โดยเฉพาะในช่วงโซนสูงกว่า 4.30%  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่หนุนโดยภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน โดยภาพดังกล่าวได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงทะลุโซน 146 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวสูงขึ้นสู่โซน 100.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 99.8-100.8จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3,318 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี การปรับตัวลดลงของราคาทองคำก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอทยอยเข้าซื้อ Buy on Dip ทองคำ แถวโซนแนวรับระยะสั้น

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports & Imports) เดือนเมษายน  

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด ซึ่งมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงิน อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญในช่วงนี้ได้  

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงพัฒนาการของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา จนทะลุโซนแนวต้าน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ นั้น ไม่ได้เหนือความคาดหมายของเราไปมากนัก เนื่องจากเงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ท่ามกลางความหวังแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ซึ่งส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึง ธีมเฟดไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย (Higher for Longer) ก็อาจกลับมาอีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรและลดสถานะ Short USD (มองเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง) โดยเฉพาะในจังหวะที่ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) สามารปรับตัวขึ้นทะลุโซน 100 จุด ซึ่งจะเป็นสัญญาณเข้าซื้อในเชิงเทคนิคัล ตามกลยุทธ์ Trend-Following (ซึ่งภาพดังกล่าวก็เกิดขึ้นกับบรรดาสกุลเงินหลัก อาทิ สัญญาณ Long USDJPY, Short EURUSD และ Short GBPUSD) 

อย่างไรก็ดี ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดดังกล่าว อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าซื้อหุ้นไทย ทว่า เราคงมุมมองเดิมว่า บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายทำกำไรสถานะถือครองบอนด์ ทั้งบอนด์ระยะสั้นและบอนด์ระยะยาวเพิ่มเติม ทำให้เงินบาทอาจไม่ได้รับอานิสงส์จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติมากนัก 

และที่สำคัญ เรามองว่า แม้ราคาทองคำจะถูกกดดันบ้างจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างยังคงรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวอยู่ ทำให้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกจำกัดได้ หากราคาทองคำสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้น แต่โดยรวมเราคงมุมมองเดิมว่า ราคาทองคำยังอยู่ในช่วงของการพักฐาน ทำให้ความผันผวนของราคาทองคำนั้น ส่งผลให้เงินบาทเผชิญความเสี่ยงแบบ Two-Way Volatility ขึ้นกับแนวโน้มราคาทองคำ 

โดยรวมเรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัดแถวโซนแนวต้านใหม่ 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ชัดเจน ก็จะเกิดสัญญาณ Long USDTHB สะท้อนโอกาสเงินบาททยอยอ่อนค่าลง ทำให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ขณะที่โซนแนวรับอาจขยับขึ้นมาแถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีแนวรับถัดไปในช่วง 32.75-32.85 บาทต่อดอลลาร์ ตามเดิม 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.95-33.30 บาท/ดอลลาร์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 พ.ค. 2568 เวลา : 11:01:38

09-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 9, 2025, 10:23 pm