(279)(296).jpg)
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (11 ก.ค.68) ที่ระดับ 32.59 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”
จากระดับปิดวัน 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.69 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รวมถึงช่วงวันหยุดที่ 10 กรกฎาคม ของตลาดการเงินไทย เงินบาท (USDTHB) โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.54-32.76 บาทต่อดอลลาร์) แม้เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง ตามจังหวะการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในช่วงคืนวันพฤหัสฯ หลังยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มตลาดแรงงานและภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากนัก อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเข้าใกล้โซนแนวต้านระยะสั้นแถว 3,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยเข้าซื้อทองคำในช่วงนี้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ใช้จังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงในการทยอยปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ด้วยการทยอยขายเงินดอลลาร์แถวบริเวณโซนแนวต้าน (Sell USD on Rally) ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทก็ดูจำกัดแถวโซน 32.70 บาทต่อดอลลาร์
บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังรายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ล่าสุด ออกมาดีกว่าคาด ทว่า ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.27%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.54% แม้จะเผชิญความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างมีความหวังว่า สหภาพยุโรป (EU) อาจบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้ในเร็ววันนี้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Rio Tinto +4.0% ที่ได้อานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของแร่โลหะ อย่าง ทองแดง ในช่วงนี้
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แม้รายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าคาด และช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงระมัดระวังต่อความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่มั่นใจว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ในปีนี้ หลังรับรู้ รายงานการประชุม FOMC (FOMC Meeting Minutes) ล่าสุด ก็มีส่วนทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง สู่ระดับ 4.34%
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง หนุนโดยรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังใช้จังหวะการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ ในการทยอยปรับสถานะถือครอง ทำให้การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ยังเป็นไปอย่างจำกัด และโดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 97.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 97.3-97.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังมีความกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และจังหวะการย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. 2025) สามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้น สู่โซน 3,330-3,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามพัฒนาการของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ของอังกฤษ ในเดือนพฤษภาคม เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษและประเมินผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ในช่วงนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกันก็อาจกดดันบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย หลังหลายประเทศในฝั่งเอเชีย เสี่ยงเผชิญอัตราภาษีนำเข้าที่สูงกว่าคาดการณ์และสูงกว่า ที่บรรดานักวิเคราะห์รวมถึงธนาคารกลางฝั่งเอเชียได้ใช้ประเมินไว้ก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป หลังราคาทองคำก็ทยอยปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าวก็อาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง อีกทั้ง เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอจังหวะเงินบาทอ่อนค่า ในการทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือปรับสถานะถือครอง ทำให้ในช่วงนี้ หากไม่มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่มักจะส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนสูง เมื่ออ้างอิงจากสถิติในอดีต เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจติดอยู่แถวโซนแนวต้าน 32.65-32.75 บาทต่อดอลลาร์ ในระยะสั้น ทั้งนี้ แม้เราจะเริ่มเห็น บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเทศปรับมุมมองเชิงลบต่อเงินบาทชัดเจน เช่น มีการ Call Short THB (Long USDTHB) โดยบางส่วนอาจมองว่า เงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าทะลุระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ แต่เราจะมั่นใจมากขึ้น ว่าเงินบาทได้กลับเข้าสู่แนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงอีกครั้ง หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ตามการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend Following
เรายังคงมีความกังวลเดิม คือ ความผันผวนของเงินบาทที่อาจกลับมาสูงขึ้นได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ Options เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.55-32.75 บาท/ดอลลาร์
ข่าวเด่น