เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
KKP คาด "ยอดขาย - ราคา" อสังหาฯ ไทยซึมยาว เสี่ยงตามรอยทศวรรษที่สูญหายของญี่ปุ่น ชี้ "ยกระดับรายได้ - ดึงต่างชาติช่วย" ก่อนเข้าสู่วัฏจักรขาลง


อสังหาฯ ไทยจะซึมยาวอีกแค่ไหน?
 
สถานการณ์การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาจนกำลังซื้อหดหาย ภาวะการเงินที่ไม่ผ่อนปรนเหมือน 10 กว่าปีที่ผ่านมา ธนาคารระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หลังจากหนี้เสียเริ่มลุกลามไปยังตลาดกลุ่มบน แม้ว่าหลายฝ่ายยังมองว่าการชะลอตัวครั้งนี้เป็นปัญหาชั่วคราวในระยะสั้นแต่ก็เริ่มมีเสียงพูดถึงกันมากขึ้นว่าหรือภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยกำลังอยู่ในวิกฤตอีกครั้ง พร้อมทั้งเรียกร้องมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งได้ขานรับและเริ่มทยอยออกมาตั้งแต่ช่วงเดือนที่ผ่านมาอย่างมาตรการ LTV ของธนาคารประเทศไทย (ธปท.) และคาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมอื่น ๆ จากภาครัฐตามมาอีก
 
อย่างไรก็ดี KKP Research มองว่าการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในครั้งนี้กำลังสะท้อนภาพปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคอสังหาริมทรัพย์มากกว่าจะเป็นปัญหาชั่วคราวและจะรุนแรงยาวนานกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ โดยมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาอาจช่วยไม่ได้มากนัก
 
อุปทานส่วนเกิน 6 ปีระบายไม่หมด
 
ประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างประการแรก คือ ปัญหาอุปทานล้นตลาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแนวราบ ทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ ปัจจุบันมีอสังหาริมทรัพย์ส่วนเกินอยู่กว่า 2 แสนยูนิตและอาจต้องใช้เวลาในการระบายมากถึง 6 ปี ขณะที่การปรับตัวของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่โดยธรรมชาติปรับตัวได้ช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยปัจจุบันปริมาณที่อยู่อาศัยใหม่ยังคงทยอยออกมาจากโครงการเปิดตัวใหม่ที่ขยายตัวในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2024 และคาดว่าจะยังมีอุปทานใหม่ที่กำลังก่อสร้างและทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้ ทำให้การระบายอสังหาริมทรัพย์ส่วนเกินอาจต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 6 ปี 
 
อุปสงค์อาจซบเซามากกว่าที่คิด
 
ประเด็นเชิงโครงสร้างประการที่สอง คือ อุปสงค์ที่อาจซบเซามากกว่าที่หลายฝ่ายคาด แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 2.6%-2.7% (ส่วน KKP Research มองไว้เพียง 2.3% และมีความเสี่ยงจะเหลือเพียง 2% หากสงครามการค้ารุนแรงมากขึ้น) แต่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาตลอดตั้งแต่หลังโควิด-19 ที่เติบโตได้เฉลี่ยมากกว่า 3%
 
ยิ่งกว่านั้น ตัวเลขเศรษฐกิจ หรือ GDP ดังกล่าวอาจไม่สะท้อนภาพเศรษฐกิจและอุปสงค์ที่แท้จริงได้ดีพอ โดยหลังจากโควิด-19 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยเติบโตได้จากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจากศูนย์เป็นหลัก ขณะที่ภาคเศรษฐกิจอื่น โดยเฉพาะในภาคการผลิตกลับเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจที่หดตัวติดต่อกันมา 9 ไตรมาสและอาจเรียกได้ว่า “ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะถดถอย” จนส่งผลต่อกำลังซื้อที่เปราะบางมากกว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา รวมไปถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาลงเป็นสัญญาณหนึ่งที่ชัดเจน
 
หนี้ครัวเรือนสูงกดดันกำลังซื้อ
 
ประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างประการสุดท้าย คือ ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงเป็นประวัติการณ์ จนทำให้ฐานะทางการเงินของครัวเรือนเปราะบาง (Household balance sheet recession) หากย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งจะพบว่าราคาบ้านสะท้อนถึงการบริโภคโดยรวม ซึ่งจะเพิ่มขึ้นไปพร้อม ๆ กับหนี้คงค้างของภาคเอกชนและครัวเรือน (Debt-fueled consumption) แต่สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างปัจจุบันและอดีต คือ ในอดีตราคาบ้าน (และการบริโภคโดยรวม) ถูกผลักดันจากหนี้ของบริษัทเอกชนจนแตะจุดสูงสุดที่ระดับเกือบ 180% ของ GDP ก่อนเกิดเป็นวิกฤต ขณะที่ในปัจจุบันราคาบ้านกลับถูกผลักดันจากหนี้ของภาคครัวเรือนเป็นหลัก โดยหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 60% ในช่วงปี 1997 มามากกว่า 90% ในปัจจุบัน
 
ยิ่งไปกว่านั้น คือ หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อาจเป็นการประเมินกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ดีเกินจริง (นอกเหนือไปจากประเด็นภาคท่องเที่ยวเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจในระยะที่ผ่านมาจนทำให้ภาพเศรษฐกิจบางส่วนบิดเบือน) เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือ GDP ในระยะ 10 ปีหลังไม่ได้ส่งผ่านไปยัง “ค่าจ้าง” หรือกำลังซื้อของภาคครัวเรือนมากนัก โดยตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปี 2024 เศรษฐกิจไทยเติบได้เฉลี่ย 3.5% ต่อปี ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยเติบโตได้เพียง 1.6%
 
ดังนั้นหากเทียบหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ของครัวเรือนจะพบว่าปัจจุบันอยู่ในระดับมากกว่า 200% หรือประชาชนโดยทั่วไปมีหนี้มากกว่ารายได้มากกว่า 2 เท่า เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2008 ที่มีหนี้มากกว่าเพียง 140% หรือ 1.4 เท่า และส่งผลให้ราคาบ้านในปัจจุบันปรับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
 
อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงในระดับนี้ย่อมกดดันกำลังซื้อของภาคครัวเรือนอย่างมาก โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ในระยะข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันภาคธนาคารก็ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มตลาดบ้านราคาปานกลาง-ล่าง

ราคาบ้านอาจหดตัว จุดเปลี่ยนอสังหาฯ
 
จากปัจจัยเชิงโครงสร้างทั้ง 3 ประการข้างต้น KKP Research ประเมินว่าระดับราคาบ้านจะปรับตัวลดลงตามกลไกตลาดในที่สุด และอาจสร้างแรงกระเพื่อมที่รุนแรงและยาวนานกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบันราคาของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่มีสัญญาณว่าจะปรับลดลงอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่น่ากังวลคืออัตราการทำกำไรขั้นต้นของกลุ่มอุตสาหกรรมผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนว่ากำลังมีการแข่งขันด้านราคาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือ การประเมินราคาของภาคธนาคารที่เริ่มชะลอตัวตามแนวโน้มราคาซื้อขายที่แท้จริงของตลาดในภาพรวม
 
ทั้งนี้ กลุ่มทาวน์เฮาส์ที่เผชิญกับการหดตัวต่อเนื่องเริ่มส่งสัญญาณการปรับลดราคามากขึ้น ตั้งแต่ต้นปี 2024 ตามการสำรวจราคาที่ยังอยู่ระหว่างขายในพื้นที่นนทบุรี ปทุมธานี และ สมุทรปราการ
 
อสังหาฯ ไทยจะตามรอย “ทศวรรษที่สูญหาย” ของญี่ปุ่น หรือไม่?
 
คำถามสำคัญต่อไปคือหากราคาบ้านหดตัวลงในระยะข้างหน้าจะยาวนานแค่ไหนและจะส่งผลอย่างไรบ้างต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม KKP Research ตั้งข้อสังเกตว่าสัญญาณทางเศรษฐกิจหลายประการที่กำลังเกิดขึ้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับวิกฤตเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว และนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่ยาวของญี่ปุ่นจนกลายเป็น “ทศวรรษที่สูญหาย”
 
ข้อสังเกตประการแรก คือ การเข้าสู่วัฏจักรสินเชื่อขาลง หลังจากฟองสบู่ราคาบ้านญี่ปุ่นแตกในปี 1990 สินเชื่อบ้านญี่ปุ่นเริ่มหดตัวอย่างรุนแรงและกดดันให้ราคาบ้านทั้งใหม่และมือสองลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อให้เกิด Negative wealth effect กล่าวคือ ราคาบ้านที่ปรับลดลงทำให้มูลค่าของหลักประกันและความมั่งคั่งของครัวเรือนลดลง นอกจากภาคครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นแล้ว ภาคธนาคารต้องแบกรับความเสี่ยงหรือความเสียหายจนต้องเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เมื่อสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจลดลงจะยิ่งทำให้ราคาบ้านปรับตัวลดลงอีก และส่งผลให้เศรษฐกิจชะงักงันต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ต่อไป ทั้งภาคอสังหาฯ และภาคเศรษฐกิจอื่นที่อาศัยธนาคารเป็นตัวกลางระดมทุน สำหรับญี่ปุ่นวงจรหายนะนี้นำไปสู่การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อนานกว่าสองทศวรรษ
 
สำหรับภาคครัวเรือนไทย เริ่มเข้าสู่วัฏจักรการลดหนี้ (Deleveraging cycle) ตั้งแต่ปลายปี 2022 จากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง สินเชื่อที่อยู่อาศัยหดตัวและหนี้เสียเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคารที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักหดตัวลดในรอบ 20 ปีและยังมีแนวโน้มจะหดตัวลงต่อเนื่องต่อไปอีกและจะกดดันราคาบ้านให้ปรับตัวลงตาม
 
ข้อสังเกตประการที่สอง คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การหดตัวของประชากรญี่ปุ่นในระยะยาวและการที่คนรุ่นใหม่เลือกจะสร้างครอบครัวลดลง (Household formation) ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่นเป็นขาลงอย่างชัดเจนจนไม่สามารถฟื้นตัวสู่ระดับเดิมได้ 
 
สำหรับประเทศไทยมีทิศทางในระยะยาวเดินรอยตามญี่ปุ่น กล่าวคือ โครงสร้างประชากรช่วงอายุ 25-65 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มขับเคลื่อนหลักในภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มเปลี่ยนเป็นทิศทางขาลง จึงมีแนวโน้มส่งผลให้อุปสงค์การซื้อที่อยู่อาศัยมีทิศทางชะลอตัวในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ แรงซื้อต่างชาติยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมายอยู่ 
 
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยจะเดินตาม  “ทศวรรษที่สูญหาย” ของญี่ปุ่น เนื่องจากจุดเริ่มต้นปัญหาของไทยไม่ได้เริ่มจากการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์เหมือนญี่ปุ่นที่ในที่สุดนำไปสู่เหตุการณ์ฟองสบู่แตกจนเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ เข้าสู่ภาวะซบเซาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอีกทางหนึ่ง นับเป็นการเปิดโอกาสในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้มากกว่า
 
มาตรการปัจจุบันช่วยได้ในระยะสั้น
 
สำหรับมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมา KKP Research มองว่ามาตรการเพิ่มเกณฑ์สัดส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าบ้าน (Loan to Value: LTV) อาจมีส่วนพยุงภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะสั้นแค่บางส่วน แต่ในระยะยาวคงไม่สามารถพลิกฟื้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ได้
 
โดยคาดว่ามาตรการ LTV จะส่งผลให้ 1) ช่วยพยุงภาคอสังหาริมทรัพย์ราคาสูง โดยผู้กู้ในกลุ่มรายได้สูงและมีเครดิตที่ดีอยู่จะสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้โดยใช้เงินดาวน์น้อยลง 2) อสังหาริมทรัพย์กลุ่มราคากลาง-ล่างอาจไม่ได้รับอานิสงส์มากนัก เนื่องจากธนาคารยังระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อกับลูกค้ากลุ่มนี้ตามแนวโน้มรายได้และเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัวชัดเจนไม่ว่าจะมีมาตรการ LTV หรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ หากราคาบ้านมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจนจะส่งผลให้ภาคธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงมูลค่าหลักประกันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจสร้างความเสียหายมหาศาลหากการผิดชำระหนี้เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี การปรับเกณฑ์ LTV อาจจะช่วยให้ลูกค้าบางส่วนกล้าจะยื่นขอกู้มากขึ้นและทำให้ธนาคารสามารถเข้าถึงลูกหนี้ที่ยังมีเครดิตดีอยู่ได้เพิ่มขึ้น
 
ดังนั้น โดยรวมอาจจะยังเร็วที่จะวิเคราะห์ได้ว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาธนาคารไม่ยอมปล่อยกู้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งหากพิจารณาจากในระยะที่ผ่านมา นอกจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย ภาครัฐยังมักออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ มาควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะมาตรการทางการคลัง ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 
 
KKP Research มองว่ามาตรการเหล่านี้อาจมีผลช่วยอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มราคาสูงเช่นเดียวกัน เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถประหยัดได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่คาดว่าจะไม่ได้มีส่วนช่วยเร่งกระบวนการตัดสินใจว่าจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มบ้านราคาที่ไม่ได้สูงมากนัก
 
“เพิ่มรายได้-ดึงต่างชาติช่วย” คือคำตอบระยะยาว
 
แม้ว่ามาตรการระยะสั้นมีความจำเป็นในการช่วยพยุงความเชื่อมั่นของภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ทางออกในระยะยาว KKP Research มองว่ามี 2 นโยบายที่ต้องดำเนินการ 1) การยกระดับรายได้ของประชาชน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องหนี้ครัวเรือนและภาคอสังหาริมทรัพย์ซบเซาไปพร้อม ๆ กัน เศรษฐกิจที่ฟื้นตัว รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนจะช่วยภาระหนี้ของครัวเรือนลดลง ธนาคารมีความมั่นใจที่จะปล่อยสินเชื่อมากขึ้น 
 
2) นโยบายแรงงานต่างชาติและการถือครองอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องทบทวนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ “เกิดน้อย โตต่ำ” ของไทย โดยเฉพาะการส่งเสริมแรงงานทักษะสูงจากทั่วโลกให้เข้ามาในประเทศ ซึ่งสิทธิในการถือครองอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการดึงดูด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องหาทางรับมือกับข้อกังวลของการเปิดเสรีให้ชาวต่างชาติมาถือครองอสังหาริมทรัพย์ที่สำคัญอย่างเช่นการทำให้คนไทยมีต้นทุนที่แพงขึ้นในการเข้าถึงอสังหาริมทรัพย์และที่ดิน
 
สำหรับประเด็นดังกล่าว ภาครัฐไม่ควรเปิดเสรีอย่างไร้ข้อจำกัด แต่ควรมีมาตรการหรือกำหนดหลักเกณฑ์อย่างเป็นระบบเกี่ยวกับประเภท จำนวน ระยะเวลา หรือพื้นที่ที่ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาถือครองอสังหาริมทรัพย์ได้ หรือการเก็บภาษีถือครองของต่างชาติกับกลุ่มที่ไม่ใช่แรงงานทักษะสูงเป็นรายปีหรือตามมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ เหมือนกับสิงคโปร์ที่กำหนดภาษีการซื้อ 60% ของราคาบ้านหากเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้แก่ภาครัฐอีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกัน ภาครัฐอาจลงทุนหรืออุดหนุนกลุ่มคนไทยที่มีรายได้น้อยให้เข้าถึงอสังหาริมทรัพย์ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไปได้มากขึ้น
 
แน่นอนว่าการดำเนินการมาตรการต่าง ๆ ต้องศึกษาชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียอย่างถี่ถ้วน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มีการกำหนดเป้าหมายเชิงนโยบายและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน พร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวงกว้างอย่างรอบด้านและครบถ้วน
 
ท้ายที่สุดนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องตั้งแต่ต้นน้ำอย่างวัสดุก่อสร้างไปจนถึงปลายน้ำอย่างอุปกรณ์ตกแต่งบ้านหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าและบริการนายหน้าซื้อขายเช่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย คิดเป็น 10% ของ GDP และมีการจ้างงานประมาณ 2.5 – 3.0 ล้านคน คิดเป็น 6-7% ของกำลังแรงงานทั้งหมด การปล่อยภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวโดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือเลยอาจสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างมากกว่าในระยะสั้นและเศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้แข็งแกร่งพอจะรับผลกระทบดังกล่าวหรือไม่มีภาคเศรษฐกิจอื่นมาช่วยพยุงแทน การปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีมาตรการที่ตรงจุดอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
 
(อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://media.kkpfg.com/document/2025/Mar/KKP-Research-Long-structural-issue-in-real-estate-sector.pdf )
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 มี.ค. 2568 เวลา : 13:50:08
24-04-2025
เบรกกิ้งนิวส์
1. ตลาดหุ้นไทยเปิด (24 เม.ย.68) ลบ 4.13 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,149.52 จุด

2. ทองเปิดตลาดวันนี้ (24 เม.ย. 68) พุ่งขึ้น 600 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 54,100 บาท

3. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.45-33.70 บาท/ดอลลาร์

4. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (24 เม.ย.68) อ่อนค่าลง ที่ระดับ 33.57 บาทต่อดอลลาร์

5. ตลาดหุ้นปิด (23 เม.ย.68) บวก 9.72 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,153.77 จุด

6. ประกาศ กปน.: 28 เม.ย. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนกาญจนาภิเษก (ด้านตะวันตก)

7. ตลาดหุ้นปิดภาคเช้า (23 เม.ย.68) บวก 12.76 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,156.81 จุด

8. MTS Gold คาดว่าราคาทองคำจะมีแนวรับที่ระดับ 3,320 เหรียญ และแนวต้านที่ระดับ 3,420 เหรียญ

9. ทองนิวยอร์กปิดเมื่อคืน (22 เม.ย.68) ร่วง 5.9 เหรียญ นักลงทุนชะลอซื้อทองคำ หลังการค้าสหรัฐ-จีน ส่งสัญญาณคลี่คลาย

10. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเมื่อคืน (22 เม.ย.68) พุ่ง 1,016.57 จุด นักลงทุนคลายกังวลสงครามการค้าคลี่คลาย

11. ประเทศไทยอากาศร้อน และร้อนจัดในภาคเหนือและภาคกลาง โดยมีฝนฟ้าคะนองในภาคใต้ 40% ภาคตะวันออก 20% กรุงเทพปริมณฑล และภาคอื่นๆ 10%

12. ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.40-33.65 บาท/ดอลลาร์

13. ทองเปิดตลาดวันนี้ (23 เม.ย.68) ลดลง 850 บาท ทองรูปพรรณ ขายออก 54,400 บาท

14. ตลาดหุ้นไทยเปิด (23 เม.ย. 68) บวก 9.48 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,153.71 จุด

15. ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (23 เม.ย.68) อ่อนค่าลงหนัก ที่ระดับ 33.63 บาทต่อดอลลาร์

อ่านข่าว เบรกกิ้งนิวส์ ทั้งหมด
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2025, 11:33 am